Digital Transformation : เจาะลึกกระบวนการพลิกโฉมธุรกิจ

Digital Transformation Step

จากบทความที่แล้วเราอธิบายถึงความหมายและความสำคัญของ Digital Transformation ไปแล้ว หากใครที่พลาด อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ (อ่านบทความ Digital Transformation คืออะไร? คลิกที่นี่) ในบทความนี้เราจึงจะนำเสนอในเรื่อง Digital Transformation ที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น หลายๆคน อาจจะสงสัยว่า ธุรกิจใดบ้างที่ควรหันมาสนใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

ที่จริงแล้ว Digital Transformation สามารถเข้าไปเพิ่มศักยภาพให้กับทุกองค์ประกอบของธุรกิจได้ ดังนั้น เราจึงเห็นว่ามี Digital Transformation เกิดขึ้นได้ในธุรกิจทุกประเภท อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่ตื่นตัวกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ประกอบด้วย ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และมีเดีย การผลิต การเงินการธนาคาร การประกันภัย ขนส่งและโลจิสติกส์ สาธารณูปโภค การแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น

ธุรกิจใดในไทยที่เริ่มทำการ Digital Transformation แล้ว?

กลุ่มธุรกิจ ในไทยที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากพายุDigital Disruption มากที่สุด ในขณะนี้  คือ ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องต่อสู้กับกระแส e-Commerce และ ภาคธนาคารที่ต้องปรับตัวให้ทัน fintech ในด้านของธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะ กลุ่มห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ อย่าง Central Group ก็ได้เดินหน้า Digital Transformation เต็มรูปแบบ เพื่อ ปรับตัวรับกระแส e-Commerce โดย ประกาศร่วมลงทุนกับ JD.com ยักษ์ใหญ่ e-Commerce อันดับ 2 ของจีน ด้วยงบลงทุนร่วมกว่า 17,500 ล้านบาท เพื่อ สร้าง JD.co.th ซึ่งเป็น e-Commerce แพลตฟอร์มที่จะนำสินค้าคุณภาพจากจีนมาขายให้กับผู้บริโภคชาวไทย โดย หวังว่าจะขยายสัดส่วนยอดขายออนไลน์ของกลุ่มเซ็นทรัลจากปัจจุบันที่ 5% เป็น 15% ภายใน 5 ปี ในขณะเดียวกัน

ภาคธนาคารก็เร่งเดินหน้าสู่ Digital Banking  โดยการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน  คือ การพัฒนา Mobile Banking ให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด และ การทยอยปิดตัวของสาขาธนาคาร ทั้งนี้ ภาคธนาคารต้องเร่งDigital Transformation เนื่องจาก สถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non-bank) เช่น Alipay, WeChat Pay, TrueMoney สามารถใช้ประโยชน์จาก fintech เพื่อเข้ามาเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแข่งกับธนาคารได้แล้ว หากภาคธนาคารไทยปรับตัวไม่ทัน ก็อาจต้องเสียความเป็นผู้นำตลาด อย่างที่ Alipay และ WeChat Pay สามารถเอาชนะภาคธนาคารของจีนได้สำเร็จมาแล้ว

กระบวนการ Digital Transformation เป็นอย่างไร?

Altimeter บริษัทที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation ได้แบ่งกระบวนการ Digital Transformation ของธุรกิจออกเป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้

1. Business as Usual : เป็นระยะที่ธุรกิจยังดำเนินไปในรูปแบบเดิม โดยธุรกิจอาจเริ่มมีความสนใจในดิจิทัล แต่ ยังถูกมองเป็นอีก Line หนึ่งของธุรกิจ ยังขาดความเชื่อมโยงกับ ภาพรวมของธุรกิจ โดย ผู้นำธุรกิจก็ยังไม่ได้มองว่าDigital Transformation เป็นวาระเร่งด่วน

2. Present and Active: ผู้นำธุรกิจเริ่มตระหนักถึง Digital disruption และ เริ่มออกจาก comfort zone แล้ว โดยเริ่มที่จะเรียนรู้และมองหาแนวทางสำหรับDigital Transformation อย่างไรก็ดี องค์กรก็ยังทำงานแบบแยกส่วนงาน การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลยังไม่ได้ถูกจัดให้เป็นระบบ

3. Formalized: เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ และมีกลยุทธ์ที่ตรงจุดมากขึ้น ผู้นำองค์กรกระตุ้นให้มีการลงทุนในคน กระบวนการ และ เทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อไปยังผู้บริหารในองค์กรให้รับรู้ และ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จากนั้น จึงนำไปสู่การวางโครงสร้างองค์กรให้สอดรับกับดิจิทัลอย่างเป็นระบบ และ มีวิสัยทัศน์

4. Strategic : องค์กรได้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล มีการวางแผนใช้ทรัพยากรอย่างมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนขึ้น สามารถเห็นภาพเป้าหมายระยะสั้น และ ระยะยาว ว่าองค์กรจะใช้ดิจิทัลไปในทางใดบ้าง และได้รับการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่

5. Converged :Digital Transformationได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ DNA องค์กร และองค์กรก็มีการพัฒนาไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา มีการลงทุนในdigital initiative ที่เกิดคุณค่า ผู้นำองค์กรเริ่มหายใจเข้าออกเป็นtransformation แล้ว รวมถึงมีการพัฒนารูปแบบการทำงานใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา

6. Innovative and Adaptive: องค์กรได้ดูดซับวัฒนธรรมแห่งการสร้างนวัตกรรม และมีการแปลงร่างองค์กรอย่างสมบูรณ์ พร้อมที่จะเร่งความเร็วให้กับกระบวนการทำงาน การลงทุน จนสามารถกระโดดเข้าสู่การเติบโตและการแข่งขันใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความยั่งยืนแก่องค์กรอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ กระบวนการ Digital Transformation แท้จริงแล้วไม่มีสูตรตายตัวและแต่ละองค์กรอาจใช้เวลาต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัย และ ข้อจำกัดที่ต่างกันในแต่ละองค์กร อีกทั้งยังเป็นการกระโดดเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง และไม่รับประกันความสำเร็จ จากการสำรวจของ Forbes พบว่าธุรกิจกว่า 84% ประสบความล้มเหลวใน Digital Transformation โดยธุรกิจที่ล้มเหลวส่วนใหญ่ยังขาดปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ อันประกอบไปด้วย

  1. ความชัดเจน ผู้นำองค์กรต้องตอบให้ได้ว่า “ดิจิทัล” มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมและธุรกิจของคุณโดยเฉพาะอย่างไร ?
  2. ความเร่งด่วน ธุรกิจของคุณจะไปต่อได้นานแค่ไหนหากไม่ทำ Digital Transformation
  3. การวางแผนที่เหมาะสมและเป็นระบบ
  4. การปฏิบัติที่ต้องสอดรับกับสภาพความเป็นจริงของธุรกิจ

ที่มา : https://www.scbeic.com

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

ติดตามข่าวสาร ความรู้ใหม่ๆ ได้ที่นี่